โนโมโฟเบีย (Nomophobia) เมื่อชีวิตติดอยู่กับโทรศัพท์มือถือ

โทรศัพท์มือถือ

ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือเปรียบเสมือนอวัยวะที่ 33 ของมนุษย์ไปเสียแล้ว หรือแทบจะเป็นอุปกรณ์ที่ติดตัวเราไปทุกที่เพราะโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือไว้สำหรับติตต่อสื่อสารแล้ว แต่ในยุคนี้โทรศัพท์มือถือคือ สมาร์ทโฟน (Smart phone) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานมากกว่าการโทรศัพท์พูดคุยกัน เช่น การเลือกซื้อสินค้า การทำธุรกรรมทางการเงิน การเขียน-ตอบจดหมาย (E-mail) อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูหนัง เช็คดัชนีหุ้น เช็คสภาพอากาศและการจราจร แผนที่ การอัพเดตข่าวสารต่าง ๆ ฯลฯ ด้วยกิจกรรมที่หลากหลายเหล่านี้สามารถทำได้บนโทรศัพท์มือถือ ทำให้หลายคนใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆหรืออาจจะหลายชั่วโมงต่อวัน และหากเวลาใดก็ตามที่เราไม่ได้เล่นโทรศัพท์ หรืออยู่ในที่ที่ไม่ก็จะเกิดอาการเบื่อ เหงา หงุดหงิด ซึ่งเรียกอาการเหล่านี้ว่า “โนโมโฟเบีย (Nomophobia)”

          ชื่ออาการ โนโมโฟเบีย (Nomophobia) ย่อมาจากคำเต็มๆ ที่ว่า “no mobile phone phobia” เป็นศัพท์ที่องค์การวิจัยของสหราชอาณาจักร หรือ YouGov ได้บัญญัติขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2008 สำหรับใช้เรียกอาการที่เกิดจากความวิตก หรือความหวาดกลัวเมื่อต้องขาดโทรศัพท์มือถือเพื่อการติดต่อสื่อสาร และจัดให้อาการนี้อยู่ในหมวดของ “โรคจิตเวชที่อยู่ในกลุ่มวิตกกังวล” โดยในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการ คือ โนโมโฟเบีย (Nomophobia) กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานมากกว่าวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากวัยรุ่นนั้นเป็นวัยที่มีเพื่อนมาก ชอบเที่ยว ชอบทำกิจกรรม ชอบเล่นเกม จึงทำให้ต้องคอยอัพเดตข่าวสารกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งถ้าอยากรู้เราเข้าข่ายอาหารดังกล่าวด้วยหรือไม่ลองเช็คได้จากสัญญาณบอกเหตุต่อไปนี้

             – หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความ/การแจ้งเตือน (Notifiation) ในโทรศัพท์มือถืออยู่ตลอดเวลา หรือหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดูบ่อยๆ ถึงจะไม่มีเรื่องด่วนหรือการแจ้งเตือนใดๆก็ตาม

             – มักวางโทรศัพท์เอาไว้ใกล้ๆ ตัวหรือชอบพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา และจะรู้สึกกังวลเมื่อต้องห่างมือถือ

             – ช่วงเวลาตื่นนอนสิ่งแรกที่ทำคือการหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาตอบข้อความหรือดูการแจ้งเตือนทันที ก่อนจะนอนก็เล่นโทรศัพท์มือถือด้วยเช่นกัน

             – เมื่อเสียงแจ้งเตือนจากโทรศัพท์ดังขึ้น จะทิ้งภารกิจที่อยู่ตรงหน้าทั้งหมดเพื่อไปเช็กข้อความ ไม่งั้นจะรู้สึก กระวนกระวายใจ ไม่มีสมาธิ จนทำให้ไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อได้

             – กลัวโทรศัพท์มือถือหาย ถึงแม้จะอยู่ในที่ปลอดภัยก็ตาม

             – ชอบเล่นโทรศัพท์มือถือขณะที่ทำกิจกรรมอย่างอื่นไปด้วยอยู่เป็นประจำ เช่น ระหว่างทานข้าว เข้าห้องน้ำ ขึ้นรถไฟฟ้า ขับรถ หรือระหว่างนั่งรอรถเมล์ เป็นต้น

          – ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าเพื่อนที่อยู่ตรงหน้า

          – เล่นมือถือจนลืมเวลาที่จะทำงานหรือกิจกรรมอย่างอื่น

          หากตัวเราหรือใครก็ตามที่มีพฤติรรมการใช้โทรศัพท์มือถือในลักษณะที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ก็อาจเข้าข่ายมีอาการโนโมโฟเบีย ซึ่งผลเสียที่ตามมา เช่น การแบ่งเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันไม่แน่นอนไร้ระเบียบ ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง มีปัญหาทางสายตาจากการจ้องหน้าจอโทรศัพท์นาน ๆ ฯลฯ ซึ่งวิธีแก้เบื้องต้นคือ การปิดการแจ้งเตือนสำหรับ Application ที่ไม่จำเป็น วางมือถือไว้ห่างตัว และหากิจกรรมอื่น ๆ ทำทดแทนเช่น การปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ทำสมาธิ ซึ่งจะช่วยทำให้เรารักษาสุขภาพสายตา จัดระเบียบเวลาการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆได้ดียิ่งขึ้น เพราะเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือแม้จะพัฒนาอำนวยความสะดวกให้เรามากเพียงใดก็ตามหากเราใช้งานที่เกินพอดีก็ย่อมส่งผลเสียต่อตัวเราได้